มิถุนายน ๒๕๓๕ พระราชทานให้กับ เลขาธิการพระราชวัง
เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริกับนายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังและผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา ให้อนุรักษ์พืชพรรณของประเทศและดำเนินการเป็นธนาคารพืชพรรณ
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้เริ่มดำเนินการ โดยฝ่ายวิชาการโครงการส่วนพระองค์ฯ สำหรับงบประมาณดำเนินงานนั้นสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้สนับสนุนให้กับโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ โดยจัดสร้างธนาคารพืชพรรณขึ้นในปี ๒๕๓๖ สำหรับเก็บรักษาพันธุกรรมพืชที่เป็นเมล็ดและเนื้อเยื่อ และสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานทุกกิจกรรมของโครงการ พ.ศ ๒๕๓๖ จนถึงปัจจุบัน
ทรงมีพระราชปรารภพระราชดำริ และพระราชทานแนวทางการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชกับนายพิศิษฐ์ วรอุไร และนายพรชัย จุฑามาศ ในพระราชวโรกาสต่างๆ สรุปดังนี้
วันที่ ๘ กุมภาพันธุ์ ๒๕๓๖ ณ อาคารที่ประทับ ในสำนักงานชลประทาน เขต ๑ ถนนทุ่งโฮเต็ล จังหวัดเชียงใหม่
– ทรงมีพระราชปรารภถึงการเสด็จพระราชดำเนินผ่านไปทางจังหวัดนนทบุรี ทรงเห็นมีพันธุ์ไม้เก่าๆ อยู่มาก เช่น ทุเรียนบางพันธุ์อาจยังคงมีลักษณะดีอยู่แต่สวนเหล่านี้จะเปลี่ยนสภาพไปจึงทรงห่วงว่าพันธุ์ไม้เหล่านั้นจะหมดไป
– พระราชทานแนวทางการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ควรอนุรักษ์พันธุ์ที่ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจไว้ด้วย
– ตามเกาะต่างๆ มีพืชพรรณอยู่มาก แต่ยังไม่มีผู้สนใจเท่าไร จึงน่าจะมีการสำรวจพืชพรรณตามเกาะด้วย
– พระราชทานแนวทางการสอนและอบรมให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ควรใช้วิธีการปลูก ฝังให้เด็กเห็นความงดงาม ความน่าสนใจของพืชพรรณ และเกิดความปิติที่จะทำการศึกษาและอนุรักษ์พืชพรรณต่อไป การใช้วิธีการสอนการอบรมที่ให้เกิดความรู้สึกกลัวว่าหากไม่อนุรักษ์แล้วจะเกิดผลเสียเกิด อันตรายแก่ตนเอง จะทำให้เด็กเกิดความเครียด ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อประเทศในระยะยาว
– ทรงมีพระราชดำริให้ทำศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช โดยมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถแสดงลักษณะของพืชออกมาเป็นภาพสีได้ เพื่อสะดวกในการอ้างอิงค้นคว้า
พระราโชวาท วันพุธที่ 19 ตุลาคม 2548 ในวโรกาสปิดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ “ทรัพยากรไทย : สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชคลองไผ่ ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
” ข้าพเจ้ายินดีที่ได้มาพบกับท่านทั้งหลายอีกวาระหนึ่งในวันนี้ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ดำเนินงานมาถึงปีนี้เป็นปีที่ 12 โครงการฯ ร่วมแรงร่วมใจกับหน่วยงานและสถานศึกษา หลายหน่วยงาน หลายสถาบัน ปฏิบัติงานด้านศึกษาและอนุรักษ์พันธุ์พืชต่างๆ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และรวบรวมผลการศึกษาวิจัยไว้เป็นหลักฐาน เป็นศูนย์รวมข้อมูลทางพันธุกรรมพืชที่สถาบันการศึกษาต่างๆ และผู้สนใจสามารถเข้าร่วมใช้ฐานข้อมูลได้ ปัจจุบันงานของโครงการฯ มิได้จำกัดเพียงศึกษาอนุรักษ์พันธุ์พืชเท่านั้น แต่ขยายวงกว้างไปถึงการศึกษาเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอื่นด้วย เช่น ดิน หิน แร่ และสิ่งมีชีวิตทุกประเภท ทุกสิ่งที่กล่าวมาล้วนแต่มีความเกี่ยวพันกัน สิ่งหนึ่งสิ่งใดขาดไปก็จะกระทบต่อการดำรงอยู่ของชาติและประชาชน นอกจากศึกษาสภาวะของทรัพยากรธรรมชาติแล้ว การให้ความรู้แก่ประชาชนก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างเหมาะสม วิธีสงวนรักษา เพื่อทุกคนจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน อย่างยั่งยืนตลอดไป การประชุมครั้งนี้มี คณาจารย์ นักวิจัย นักเรียน นักศึกษา และเกษตรกรจำนวนมาก เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อคิดเห็น ข้าพเจ้าหวังว่าทุกท่าน จะได้รับประโยชน์จากการประชุมโดยทั่วกัน “