สมุนไพรในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

ผศ.ดร. บุญเชิญ    ดิษสมาน
รองอธิการบดี

                ต้นไม้นับว่ามีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ในทุก ๆด้าน  ต้นไม้เป็นปัจจัย 4 ที่ช่วยทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้  ถ้าไม่มีต้นไม้เกิดขึ้นในโลกนี้ ชีวิตมนุษย์ก็คงไม่มี  ดังนั้นเราจึงควรช่วยกันปลูกต้นไม้โดยเริ่มจากตัวเรา เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์เอาไว้ให้อยู่คู่โลกนี้ตลอดไป
               มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ  มีพื้นที่รวมกันทั้งสิ้น 155 ไร่ ในจำนวนพื้นที่ทั้งหมดของมหาวิทยาลัยฯ  มีบางส่วนที่มีการปลูกต้นไม้นานาชนิดโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เกิดร่มเงา  และเพื่อตกแต่งพื้นที่ให้เกิดความสวยงาม  นอกจากนี้ผลพลอยได้จากการปลูกต้นไม้ในมหาวิทยาลัยฯยังให้ประโยชน์ด้านอื่น ๆอีกมากมาย  เช่นเป็นปอดธรรมชาติที่ช่วยฟอกอากาศให้บริสุทธิ์   และต้นไม้บางชนิดยังนำไปใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคได้อีกด้วย
             คำว่า “สมุนไพร”หมายถึง  พืชที่ใช้ทำเป็นเครื่องยา  ส่วน  “ยาสมุนไพร”  หมายถึงยาที่ได้จากส่วนของพืช  สัตว์  และแร่  ซึ่งยังมิได้ผสมปรุงหรือ  แปรสภาพ  “พืชสมุนไพร” นั้น ตั้งแต่โบราณทราบกันดีว่ามีคุณค่าทางยามากมายซึ่งเชื่อกันว่าต้นไม้ต่าง ๆทุกชนิด ล้วนแล้วแต่มีสารที่เป็นตัวยาด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ว่า พืชชนิดไหนจะมีคุณค่าทางยามากน้อยกว่ากันเท่านั้น
              จากการสำรวจพรรณไม้ชนิดต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ระยะแรก ในช่วงเดือน  กรกฎาคม – ตุลาคม 2550  พบว่ามีจำนวนพรรณไม้ทั้งสิ้น  160  ชนิดรวมประมาณ  4,380  ต้นซึ่งปลูกอยู่ใน  3  เขตพื้นที่  และจากการสำรวจพบว่าเป็นพรรณไม้ที่มีคุณสมบัติทางยา เป็นจำนวนมาก  ดังตัวอย่างที่จะกล่าวถึง ต่อไปนี้

ต้นพิกุล
ปลูกไว้จำนวนทั้งสิ้น  45  ต้นโดยมีข้อมูลรายละเอียด
และคุณสมบัติทางยาดังนี้

ชื่อทั่วไป พิกุล     ชื่อสามัญ   Bullet Wood

ชื่อวิทยาศาสตร์   Mimusops elengi Linn. วงศ์  Sapotceae  ชื่ออื่นๆ    แก้ว, ซางดง, กุน, ตันหยงแก้ว, ซางดง, กุน, พิกุลป่า, ตันหยง,พิกุลเถื่อน  ลักษณะทั่วไป   พิกุล  เป็นไม้ยืนต้น สูง 10 – 15 เมตร ไม่ผลัดใบเรือนยอดรูปเจดีย์ ขณะที่ต้นยังเล็ก โตขึ้นเป็นทรงกลมหนาทึบเปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทามีรอยแตกตามยาวของลำต้น  ใบ   ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปรี รูปไข่กว้าง 2 – 6 ซม. ยาว 7 – 1ซม.ปลายใบแหลมเป็นติ่งขอบใบเป็นคลื่นดอก    ดอกเดี่ยว อยู่รวมกันเป็นกระจุกที่ปลายกิ่งหรือที่ซอกใบ กลีบเลี้ยง 8 กลีบ เรียงซ้อนกัน 2 ชั้น กลีบดอกประมาณ 24 กลีบ เรียงซ้อนกัน  โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเล็กน้อย ดอกสีขาว เมื่อใกล้โรยสีเหลืองอมน้ำตาล ดอกบานวันเดียวแล้วร่วง มีกลิ่นหอม ออกดอกตลอดปี  ผล  สีเหลือง รสหวาน อมฝาด เมล็ด แบนรี ขนาด 1.5 เซนติเมตร เปลือกแข็ง  การขยายพันธ์  โดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณทางยา
– เปลือกต้น ต้มอมกลั้วคอ แก้เหงือกอักเสบ
– เนื้อไม้ที่ราลงมีสีน้ำตาลเข้มประขาว มีกลิ่นหอม เรียกว่า ขอนดอก ใช้บำรุงตับ ปอด หัวใจ และบำรุงครรภ์
– ดอก มีกลิ่นหอมจัดอยู่ในพิกัดเกสรทั้งห้า เข้ายาหอม บำรุงหัวใจ แก้เจ็บคอน้ำมันหอมระเหยจากดอกใช้ทาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
– เมล็ด ตำให้ละเอียดทำเป็นยาเม็ดสำหรับสวนเวลาท้องผูก

ต้นเต่าร้าง
ปลูกไว้จำนวนทั้งสิ้น   9   ต้น  มีข้อมูลรายละเอียดและคุณสมบัติทางยาดังนี้

ชื่อทั่วไป   เต่าร้าง    ชื่อสามัญ  Fishtail   palm   ชื่อวิทยาศาสตร์  Caryota   mitis   ชื่อวงศ์  Cargota sp.
ลักษณะพิเศษของพืช : เมล็ดมีพิษ  ลักษณะทั่วไป เต่ารั้ง เป็นไม้ยืนต้น จำพวกหมากหรือปาล์มต้นสูง   ลำต้น มีลักษณะกลมเป็นปล้อง กาบใบมีใยคล้ายตาข่ายหุ้มลำต้น   ใบ เป็นใบรูปขนนก แตกเป็นแผ่นๆ คล้ายรูปหางปลาสีเขียวสดและมัน แต่ตรงใต้ใบเป็นสีเขียว  ดอก ออกดอกเป็นช่อ ยาวประมาณ 2-3 ฟุต จะออกที่ละยอดผล ออกผลเป็นเม็ดเล็กๆ กลม เรียงเป็นแถวโตประมาณ 1 เซนติเมตร เมื่อยังอ่อนจะเป็นสีเขียว แต่พอผลแก่จะเป็นสีแดงอมดำ ตามผิวของผลนั้นจะมีขนละเอียด การขยายพันธุ์ โดยการใช้เมล็ด

สรรพคุณทางยา    ราก,หัว ดับพิษตับปอด แก้กาฬขึ้นปวด แก้หัวใจพิการ แก้ม้ามพิการ แก้ตับทรุด แก้ช้ำใน

ต้นมะขาม
ปลูกไว้จำนวนทั้งสิ้น   21   ต้น  มีข้อมูลรายละเอียดและคุณสมบัติทางยาดังนี้

ชื่อวิทยาศาสตร์ Tamarindus indica Linn.    ชื่อวงศ์ Leguminosae
ชื่อท้องถิ่น   ภาคกลาง เรียก มะขามไทย   ภาคใต้ เรียก ขาม นครราชสีมา เรียก ตะลูบ  กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี
เรียก ม่วงโคล้ง  เขมร-สุรินทร  เรียก อำเปียล
ลักษณะทั่วไป    มะขามเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกต้นขรุขระ
และหนา สีน้ำตาลอ่อน ใบ เป็นใบประกอบ ใบเล็กออกตามกิ่งก้านใบเป็นคู่ ใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบ
และโคนใบมน ดอก ออกเป็น ช่อเล็กๆ ตามปลายกิ่ง หนึ่งช่อมี 10-15 ดอก ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกสีเหลือง
และมีจุดประสีแดงอยู่กลางดอก ผล เป็นฝักยาว รูปร่างยาวหรือโค้ง ยาว 3-20 ซม. ฝักอ่อนมีเปลือกสีเขียวอมเทาสีน้ำตาลเกรียม เนื้อในติดกับเปลือก เมื่อแก่ฝักเปลี่ยนเป็นเปลือกแข็งกรอบหักง่าย สีน้ำตาล เนื้อในกลายเป็นสีน้ำตาลหุ้มเมล็ด เนื้อมีรสเปรี้ยว และหวาน  การปลูก มะขามขึ้นได้กับดินทุกชนิด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนในดินเหนียวทนแล้งได้ดี เหมาะที่จะปลูกในฤดูฝน ใช้กิ่งพันธุ์ปลูกโดยการขุดหลุมและใส่ปุ๋ยที่ก้นหลุมก่อนดูแลรักษาเหมือนกับพืชโดยทั่วไป นิยมขยายพันธุ์โดยการทาบกิ่ง ติดตาหรือต่อกิ่ง เพราะได้ผลเร็วและไม่ทำให้กลายพันธุ์

สรรพคุณทางยา

                 ยาระบาย แก้อาการท้องผูก ใช้มะขามเปียกรสเปรี้ยว 10–20 ฝัก (หนัก 70–150 กรัม)จิ้มเกลือรับประทาน แล้วดื่มน้ำตามมากๆ หรือต้มน้ำใส่เกลือเล็กน้อยดื่มเป็นน้ำมะขาม  ขับพยาธิไส้เดือนนำเอาเมล็ดแก่มาคั่ว แล้วกะเทาะเปลือกออก เอาเนื้อในเมล็ดไปแช่น้ำเกลือจนนุ่ม รับประทานครั้งละ 20-30 เม็ด  ขับเสมหะ ใช้เนื้อในฝักแก่หรือมะขามเปียกจิ้มเกลือรับประทานพอสมควรจะเห็นได้ว่าต้นไม้ที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดีมีสรรพคุณทางยามากมายอย่างที่เราคาดไม่ถึงแต่อย่างไรก็ตาม  การนำพืชสมุนไพรมาใช้ประโยชน์เพื่อการรักษาโรคนั้นจำเป็นจะต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของผู้ที่มีความรู้หรือผู้ที่มีใบประกอบโรคศิลปะแพทย์แผนไทยเพราะสมุนไพรบางชนิดนอกจากจะมีสรรพคุณทางยาแล้วยังมีผลข้างเคียงที่เป็นพิษต่อร่างกายถ้าใช้ไม่ถูกวิธีอีกด้วย